เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2546 มีการจัดงานเล็กๆในชั้นเรียนวันอาทิตย์ของอาจารย์วศิน อินทสระ ด้วยการให้นักเรียนกล่าวสุนทรพจน์หน้าชั้น ในส่วนของฉันเริ่มต้นว่า
“วันนี้เป็นวันครบรอบ 2 ปี ที่หนูมาเรียนกับอาจารย์ แต่หนูรู้สึกเหมือนว่านานกว่านั้น และหนูรู้สึกว่าน่าจะจำธรรมะที่อาจารย์สอนได้มากกว่านี้ นี่เป็นความมหัศจรรย์ของท่านอาจารย์ที่จำธรรมะในพระไตรปิฎกได้มากเหลือเกิน และนี่ก็เป็นธรรมดาของลูกศิษย์ที่จะจำอะไรไม่ค่อยได้….”
นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ฉันไม่ค่อยก้าวหน้าทางจิตใจแม้จะมีโอกาสผ่านข้อธรรมสำคัญที่เหมาะกับตน ตอนอ่านพบก็ตื่นเต้นและจำไว้เป็นหลักชัย แต่ไม่นานก็ลืมไป แล้วกลับไปทุกข์ซ้ำซากกับความคิดแบบเดิมที่ส่งข้ามชาติมาทางดีเอ็นเอ
น่าตลกของฉันคือ อาจารย์สอนศิลปะท่านหนึ่งชอบให้นักเรียนถาม บอกว่าถามแล้วจะจำข้อนั้นได้แม่น ก็จริงส่วนหนึ่ง สำหรับฉันคือจำคำถามได้ แต่จำคำตอบไม่ได้
วิธีที่จะเดินไปบนถนนสายธรรมให้ได้ก็คือทำตามที่หลวงพ่อชา สุภัทโธสอนว่า “ให้เราน้อมเข้าสู่ธรรม ไม่ใช่น้อมธรรมเข้ามาสู่เรา”
เรื่องเล่าเปรียบเทียบก็คือ อาจารย์ท่านหนึ่งให้โจทย์ลูกศิษย์ว่าจะทำให้ตะกร้าใส่น้ำทะเลเต็มได้อย่างไร ลูกศิษย์คิดไม่ออก เพราะตักเท่าใดน้ำทะเลก็ไหลออกตามช่องตะกร้า ในที่สุดอาจารย์ก็เฉลยด้วยการโยนตะกร้าลงไปในทะเล
การอ่านข้อธรรมที่พบแล้วก็ทำความเข้าใจให้ซึมซาบเข้าในใจ แม้จะลืมก็ไม่เป็นไร มีหลักยึดไว้ง่ายๆ “ไม่ดีไม่ทำ” หรือแม้แต่สงสัย ต้องวิเคราะห์ ต้องถกเถียง ต้องอธิบาย อะไรก็ตามที่ต้องอธิบาย นั่นแสดงว่ามีปัญหาหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต สรุปว่า
“ถ้าสงสัยแล้วอย่าทำเลย”
ชีวิตง่ายขึ้นเยอะ
อีกข้อหนึ่งที่ช่วยฉันประจำคือเข้านั่งใกล้พระพุทธเจ้า หมายความว่าทำตามที่ท่านสอนว่าบางอย่างเป็นอจินไตย อย่าไปสนใจคิด มันจะเยอะ แต่บางครั้งก็เหมือนดื้อเพราะลืม
เช่นเมื่อวันหยุดได้ไปเที่ยววัดจีน เดินผ่านหิ้งยักษ์มีเทพไม้แกะสลักวางเรียงนับร้อย อดนึกไม่ได้ว่าคนเราช่างทุกข์หนักหนอ ต้องการพึ่งเทพมาก นึกแล้วก็จะยาวไปว่าเทพองค์ใดเป็นอย่างไร ช่วยเรื่องอะไร มีจริงมั้ย ฯลฯ ทำท่าเริ่มจะยาวไปแล้วก็ตัดว่าอย่าไปนึกเลย ไม่รู้บ้างก็ได้
อาจารย์วศิน อิทสระ สอนว่า
ปากเหมือนปู หูเหมือนตะกร้า ตาเหมือนตะแกรง
ปากไม่แพร่ง หูไม่อ้า ตาไม่เห็น
เป็นหลักธรรม นำให้ หัวใจเย็น
คนควรเป็น เช่นนั้นบ้าง ในบางคราว
บางทีที่คิดมากก็เพราะเราเลือกคิดเอง หนักหัวแล้วก็เลิกคิดบ้าง อะไรมันจะเกิด คิดหรือไม่คิดมันก็เกิด มันเกิดเพราะมันต้องเกิด มันเกิดเพราะเราเคยทำไว้ เมื่อไหร่ไม่รู้ ไม่ต้องรู้ก็ได้ เลิกถามว่าทำไมเรื่องนี้ต้องเกิดกับเรา คำตอบคือเพราะเราเคยทำไว้ เชื่อแล้วก็จบ
นี่คือน้อมใจเข้าสู่ธรรม ธรรมบอกว่าเราทำสิ่งใดมา สิ่งนั้นจะเกิดกับเรา ธรรมนั้นใหญ่ดังทะเล จงลงไปอยู่ในทะเล ไม่เถียงทะเล ยอมรับทะเล
ถ้าเราน้อมธรรมเข้าสู่เรา เราจะเลือกแต่สิ่งที่เราชอบข้อธรรมที่เราชอบและเถียงทะเล นั่นทำให้ทุกอย่างเยอะและยาว จงหยุดคิดนั่นทำได้ พระพุทธเจ้าไม่สอนอะไรที่เราทำไม่ได้
ธรรมใหญ่ที่สุดคืออริยสัจ 4 สิ่งที่เราควรรู้เพื่อช่วยชีวิตตัวเองคือข้อ 2 รู้หรือหาสาเหตุแแห่งทุกข์ อันคือความอยาก ทุกสิ่งเกิดแต่อยาก ไม่อยาก ทำให้ชอบ ไม่ชอบ ยาวววววววไป
ฉันอาจลืมอะไรไปมาก แต่คำสำคัญบางทีก็ไม่ลืม
ในหนังสือเล่มหนึ่งของรินไซ ชื่ออะไรลืมไปแล้ว เขียนว่าอะไรลืมไปแล้ว ทั้งเล่มจำได้คำเดียว
“อย่าอยากอะไรเลย”
หมดทุกข์ได้เทียวนะ
น้อมใจเข้าสู่ธรรม จงเชื่อ อย่าเถียงเลย เลิกเถียงเถอะ ทำ
“อย่าอยากอะไรเลย”
ขอให้เพื่อนๆมีความสุขค่ะ
ขวัญ เพียงหทัย
พุธ 4 กันยายน 2562